ความเป็นมา
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและให้บริการ ทางวิชาการมีฐานะเทียบเท่าสำนักวิชา จัดตั้งขึ้น อย่างเป็นทางการตามข้อกำหนดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง การจัดตั้งส่วนงาน พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542
ระยะแรก
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2542 พร้อมกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2542 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรก โดยใช้อาคารส่วนหนึ่งของโรงเรียนเทศบาล 6 สลากกินแบ่งรัฐบาล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นที่ทำการชั่วคราว มีทรัพยากรสารสนเทศสำหรับให้บริการประมาณ 3,000 เล่ม มีที่นั่งอ่านสำหรับผู้ใช้บริการ จำนวน 30 ที่นั่ง และมีบุคลากร จำนวน 3 คน
ระยะที่ 2
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ย้ายมายังอาคารชั้นเดียวในกลุ่มอาคารส่วนหน้าในเดือนตุลาคม 2542 ในเขตพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีทรัพยากร สารสนเทศสำหรับให้บริการประมาณ 6,500 เล่ม จำนวน 80 ที่นั่ง และมีบุคลากร จำนวน 11 คน
ปัจจุบัน
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้ย้ายมายังที่ทำการถาวร คืออาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ในวันที่ 19 เดือนเมษายน 2546 ซึ่งเป็นอาคารสูง 5 ชั้น มีพื้นที่รวม 11,484 ตารางเมตร มีทรัพยากรสารสนเทศประมาณ 160,000 เล่ม และเพิ่ิมจำนวนมากขึ้นตามลำดับ โดยมีที่นั่งอ่าน ประมาณ 1,000 ที่นั่งมีบุคลากร จำนวน 32 คน
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าและเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีจำนวนและประเภททรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2545 ได้จัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS และในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Koha (Matrix) ในการบริหารจัดการและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภายใน ศูนย์บรรณสารฯ
เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและได้มีการริเริ่มการให้บริการที่หลากหลายประเภทเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสนองตอบต่อความต้องการของประชาคมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและชุมชนท้องถิ่น
วิสัยทัศน์
“แหล่งเรียนรู้ทางวิชาการที่ทันสมัย มีมาตรฐานคุณภาพการบริการระดับสากล เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ค่านิยม (Core Value)
F มาจากคำว่า Flexibility พร้อมปรับเปลี่ยน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์พลิกผัน ของโลกยุคปัจจุบัน
I มาจากคำว่า Integrity ยึดมั่นความถูกต้อง ดําเนินงานตามเจตจํานงการบริหารงาน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
R มาจากคำว่า Resourcefulness สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการให้บริการและการบริหารจัดการองค์กร
S มาจากคำว่า Spirit - Service Mind and Save the Environment ทุ่มเท เสียสละ เพื่อประโยชน์ขององค์กร มีจิตบริการ ทำงานด้วยใจ และใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
T มาจากคำว่า Teamwork มีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ
SMART LIBRARY
- Services การให้บริการที่เป็นเลิศ
- Management การบริหารจัดการที่ทันสมัย
- Adaptability การเรียนรู้และปรับตัว
- Resources การมีทรัพยากรที่ทันสมัย หลากหลาย
- Teamwork การมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ
พันธกิจ
- จัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพ ทันสมัย
- วิเคราะห์ จัดระบบทรัพยากรสารสนเทศอย่างมีมาตรฐาน
- บริการและเผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- สร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ
- ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
- ทำหน้าที่เป็นหอจดหมายเหตุและหอประวัติของมหาวิทยาลัย
- ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาชีพห้องสมุดแก่ชุมชน
ภาระหน้าที่
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการที่สนับสนุน ความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งในด้านการจัดการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระบบการบริหารจัดการ และการบริการ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการดำเนิน การแสวงหา วิเคราะห์ การจัดระบบ และการบำรุงรักษา ให้บริการ ทรัพยากรสารสนเทศทุกรูปแบบ และเป็นแหล่งรวบรวมบริการสืบค้น เอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย
โครงสร้าง
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา แบ่งฝ่ายงานภายในออกเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้
- ฝ่ายเลขานุการและธุรการ
- ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ
- ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศ
- ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้อำนวยการ ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีและมีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีคณะกรรมการประจำและจัดระบบบริหารงานภายในศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางในการพัฒนาศูนย์บรรณสารฯ
ภาระหน้าที่หน่วยงานภายใน ทั้ง 4 ฝ่าย มีดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการและธุรการ
เป็นสำนักงานบริหารกลางของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาสนับสนุนการปฏิบัติงานภารกิจหลัก ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบในการติดต่อประสานงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว โดยแบ่งภาระหน้าที่เป็น 6 งานย่อย ดังนี้
- งานธุรการ
- งานงบประมาณและแผนงาน
- งานการเงินและบัญชี
- งานพัสดุและครุภัณฑ์
- งานบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
- งานประกันคุณภาพการศึกษาและการรับรองมาตรฐาน
2. ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ
รับผิดชอบในการแสวงหา คัดเลือก จัดหา และวิเคราะห์เนื้อหา จัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ หนังสือ ตำรา เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ และสื่อโสตทัศนศึกษา ฐานข้อมูล และสื่อทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยของมหาวิทยาลัย จัดทำเครื่องมือช่วยค้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในการสืบค้นหาสารสนเทศ ตลอดจนดูแลในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และบำรุงรักษาทรัพยากรสารสนเทศให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ แบ่งภาระหน้าที่เป็น 5 งานย่อย ดังนี้
- งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
- งานวิเคราะห์และจัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ
- งานจัดทำรายการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ
- งานอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศ
- งานจดหมายเหตุ
3. ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศ
รับผิดชอบในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ห้องสมุด ให้สามารถเข้าถึงสารสนเทศประเภทต่าง ๆ ได้ตามความต้องการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่า ให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความพึงพอใจในการใช้บริการ และประเมินคุณภาพของการให้บริการ ด้วยวิธีการต่าง ๆ แบ่งภาระหน้าที่เป็น 7 งานย่อย ดังนี้
- งานบริการทรัพยากรสารสนเทศและสื่อการศึกษา
- งานวารสารและเอกสาร
- งานตอบคำถามช่วยการค้นคว้าและวิจัย
- งานฝึกอบรมและส่งเสริมการรู้สารสนเทศ
- งานบริการห้องค้นคว้ากลุ่ม ห้องมัลติมีเดีย และพื้นที่การเรียนรู้
- งานสื่อสารและประชาสัมพันธ์
- งานข้อมูลท้องถิ่น
4. ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทำหน้าที่ดูแลระบบห้องสมุดอัตโนมัติและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการให้บริการห้องสมุดในรูปแบบต่าง ๆ ให้ทันสมัย และประสานความร่วมมือการดูแลรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกับหน่วยงานกลาง ตลอดจนการบำรุงรักษาการทำงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในหน่วยงาน
- งานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูล
- งานพัฒนาและดูแลระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
- งานพัฒนาระบบออนไลน์