ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ ตลอดจนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการหน่วยงาน  ประกอบไปด้วย

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (KOHA)

เมื่อแรกเริ่มดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารฯ ได้จัดหาโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS  (Virginia Tech Library System)  มาใช้ในการบริหารจัดการ และการให้บริการสืบค้นและยืม-คืนทรัพยากรสารสนเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ต่อมาในปีพ.ศ. 2562 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ปรับเปลี่ยนระบบห้องสมุด จาก VTLS เป็นระบบห้องสมุด KOHA เวอร์ชัน 16.15  

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (KOHA) เป็นซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยรหัส (Open Source) ที่สามารถนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้ได้เทียบเท่ากับโปรแกรมระบบห้องสมุดเชิงพาณิชย์ มีความสามารถหลายด้าน อำนวยความสะดวกให้ผู้ดูแลระบบมีอิสระในการแก้ไขฟังก์ชั่นของซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นหรือตรงกับลักษณะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้  

เครื่องยืมหนังสืออัตโนมัติด้วยตนเอง   (Self Check out)

ในปีพ.ศ. 2564 ศูนย์บรรณสารฯ ได้จัดหาเครื่องยืมหนังสืออัตโนมัติด้วยตนเอง (Self Checkout) ทดแทนเครื่องเดิมที่ชำรุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือที่ต้องการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ให้บริการ

ประตูควบคุมทางเข้าอัตโนมัติ (Access Control) 

ศูนย์บรรณสารฯ ได้จัดหาระบบประตูควบคุมทางเข้า-ออก ของผู้ใช้บริการ เพื่อควบคุมความปลอดภัยในการเข้าใช้บริการ และเพื่อเป็นข้อมูลการใช้บริการห้องสมุดของสำนักวิชาต่างๆ และเพื่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ห้องสมุดที่เกี่ยวข้อง    

ระบบเครือข่าย (Lan) และเครือข่ายไร้สาย (Wireless)

ศูนย์บรรณสารฯ ดำเนินการปรับปรุงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Lan) ภายในอาคารเพิ่มเติม เพื่อรองรับการให้บริการสืบค้นข้อมูลความเร็วสูง  ตลอดจนเพื่อรองรับการให้บริการชมภาพยนตร์และสื่อมัลติมีเดียออนไลน์ (Movie on Demand)  นอกจากนี้ ได้ติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless) ความเร็วสูงเพื่อเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด สำหรับรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการที่นำอุปกรณ์ของตนเองมาใช้งาน (Bring your own device , BYOD) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนออนไลน์ และการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา  โดยการดำเนินการของศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย  

ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

ในปีพ.ศ. 2564 ศูนย์บรรณสารฯ ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม จำนวน 8 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ เพื่อรักษาทรัพย์สินและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและมหาวิทยาลัย

ระบบสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศจากจุดเดียว  (Single Search) 

ในการอำนวยความสะดวกในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสืบค้นจากจุดเดียวนัั้น ได้นำระบบ Ebsco Discovery Service (EDS) มาใช้ในการอำนวยความสะดวกในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.)

การเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศ จากภายในเครือข่ายมหาวิทยาลัย

ศูนย์บรรณสารฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ EZProxy ซึ่งเป็นโปรแกรมประเภท web-based proxy  (พัฒนาโดย Online Computer Library Center, OCLC)  เพื่อให้บริการแก่อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และสมาชิกห้องสมุด  ระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวก ผ่านหน้าเว็บไซต์ของระบบ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมประเภท VPN