<<การพัฒนาระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามีการพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ ทั้งในส่วนของการให้บริการและการปฎิบัติงานของศูนย์บรรณสารฯ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการพัฒนาระบบต่างๆ ดังนี้


ระบบการจัดเก็บข้อมูลและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ

ศูนย์บรรณสารฯ ได้พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเพื่อใช้ในการจัดเก็บความพึงพอใจ ความไม่พึงพอใจ ความผูกพัน ตลอดจนข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้รับบริการที่จำแนกตามประเภทของผู้รับบริการ ตามสำนักวิชา สาขาวิชา/หลักสูตร หรือหน่วยงานที่สังกัด ระบบดังกล่าวพัฒนาโดยใช้ภาษา PHP ในการเขียนโปรแกรม และใช้ MySQL เป็นฐานข้อมูล ในการจัดเก็บข้อมูลได้ใช้ทฤษฎีคำนวณของทาโร่ ยามาเน (Taro Yamane) ในการกำหนดกลุ่มตัวอย่างของประชากรที่ตอบแบบประเมิน โดยให้อยู่ในระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ เป็นระบบที่มีความสะดวก สามารถให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Realtime) และข้อมูลย้อนหลัง (Historical data) ตลอดจนสามารถดูแนวโน้มความคาดหวัง ความพึงพอใจ ความผูกพัน และข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการที่เป็นอาจารย์ และนักศึกษาตามสาขาวิชา/หลักสูตร ทั้งนี้ศูนย์บรรณสารฯ ได้นำข้อมูลจากระบบความพึงพอใจดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการให้บริการตลอดจนการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง และเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสำนักวิชา และสนับสนุนการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักวิชาและของมหาวิทยาลัย


ระบบตรวจสอบหนี้ห้องสมุด (MFU Lib Debt)

ศูนย์บรรณสารฯ ได้พัฒนาระบบตรวจสอบหนี้สินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบหนี้สินของห้องสมุด โดยเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบสามารถตรวจสอบหนี้สินของนักศึกษาครั้งละหลายรายการ โดยใช้ไฟล์ที่บันทึกรายการรหัสนักศึกษาไว้ ทำให้นักศึกษาไม่สามารถยืมหนังสือได้ และระบบยังส่งอีเมลทวงถามหนี้สินของห้องสมุดทันที นอกจากนี้ระบบยังเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลระบบบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัย (REG) ทำให้เมื่อมีนักศึกษาแจ้งจบการศึกษา หรือพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ระบบจะบันทึกข้อมูลในระบบห้องสมุดอัตโนมัติทำให้เจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลได้ทันที และสามารถดำเนินการติดตามหนี้สินของห้องสมุดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบตรวจสอบหนี้สินช่วยลดเวลา ลดขั้นตอน และลดความผิดพลาดในการทำงานส่งผลให้ห้องสมุดสามารถติดตามหนี้สินได้อย่างทันท่วงที


ระบบการเปลี่ยนตารางปฏิบัติงาน

ศูนย์บรรณสารฯ พัฒนาระบบการเปลี่ยนตารางปฏิบัติงานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเปลี่ยนตารางปฏิบัติงานของศูนย์บรรณสารฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดระยะเวลาในการดำเนินการให้น้อยลง ลดการใช้กระดาษในการพิมพ์ตารางปฏิบัติงาน และสามารถเก็บหลักฐานการยินยอมเปลี่ยนตารางปฏิบัติงานจากผู้ได้รับมอบหมายเดิม ตลอดจนสรุปเวลาปฏิบัติงานของพนักงานศูนย์บรรณสารฯ รายงานแก่ผู้บังคับบัญชา และส่วนการเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ตรวจสอบการลงเวลาปฏิบัติงานของพนักงานศูนย์บรรณสารฯ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว


ระบบติดตามหนังสือซ่อม (Book Repair Tracking)

ระบบติดตามหนังสือซ่อม เป็นระบบที่ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการติดตามกระบวนการของการซ่อมหนังสือ ทำให้ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงานซ่อมหนังสือของแต่ละเล่ม และจัดเก็บข้อมูลสถิติการซ่อมหนังสือได้ โดยสามารถนำข้อมูลมาประกอบในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการซ่อมได้ 

ระบบติดตามหนังสือซ่อมถูกออกแบบและพัฒนาในรูปแบบ Web Application โดยจัดการฐานข้อมูลด้วย MySQL ในการเชื่อมโยงข้อมูลรายละเอียดของหนังสือจากฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติ มาแสดงในระบบติดตามหนังสือซ่อมได้ โดยใช้การสืบค้นจากบาร์โคดของหนังสือ ซึ่งระบบจะแสดงผลข้อมูลและเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลาผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้สะดวกในการเข้าใช้งาน และช่วยลดขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถตรวจสอบ ติดตามกระบวนการในการซ่อมหนังสือได้อย่างสะดวกถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น 


<<การพัฒนาระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศ

© 2022 MFU Library Annual Reports. Created by MFU Library