Gold Ornate Pattern Background

“น้อมรำลึกถึงสมเด็จย่าของแผ่นดิน”

พระทรงเป็นบรมราชชนนีของสองบรมกษัตริย์

พระทรงคุณจริยานุวัตรนิรัติศัย

พระทรงโอบเอื้อฟ้าโอบอุ้มดินคุ้มถิ่นไทย

พระทรงเป็นแม่ฟ้าหลวงในดวงใจนิรันดรกาล

พฐา สุวรรณรัตน์ จอห์นสตัน - ประพันธ์

๑๘ กรกฎาคม วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ที่มาของพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง

การทานหา ในวัฒนธรรมล้านนาคือการอุทิศเครื่องอุปโภคให้เป็นทาน เพื่ออุทิศให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้วโดยเชื่อว่าคนที่ตายไปนั้นได้ไปอยู่อีกโลกหนึ่ง หากเป็นบุตรหลานญาติพี่น้อง ทานหา คือการนำสิ่งของเครื่องใช้ของกินที่ผู้ตายชอบ ไปอุทิศให้เป็นทานแล้ว สิ่งของเหล่านั้นก็จะไปถึงผู้ตายได้เสวยในโลกที่ตนอยู่ พิธีการถวายทานในการทานหา ก็เป็นการทำเช่นเดียวกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลในเทศกาลหรือโอกาสสำคัญพิเศษต่างๆ การทานหาจะทำเป็นพิธีโดยเฉพาะ เช่นเฉพาะครอบครัว หรือตระกูลเดียวกัน หรืออาจเป็นการทานหาเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ

และนับตั้งแต่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ยังความโศกเศร้าอาลัยอย่างสุดซึ้งแก่พสกนิกรทั้งประเทศ แต่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณยังคงสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จย่า อย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จังหวัดเชียงราย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงได้จัดพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุกปี โดยจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ การถวายพานพุ่มและพานดอกไม้ถวายสักการะต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จย่า การปล่อยพันธุ์ปลา การร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณต่างๆ การทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาและมอบทุนการศึกษา เป็นต้น

ขั้นตอนใน พิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง

สำหรับพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวงที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น

จะมีขั้นตอนพิธีแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ

ช่วงที่ ๑ พิธีถวายเครื่องสักการะ หน้าพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานเฉลิมพระเกียรติ

การถวายเครื่องสักการะ ที่สามัญชนถวายแก่เจ้านายชั้นสูงนั้น เรียกว่า "การถวายสักการะ" หรือ "พิธีถวายสักการะ" ส่วนคำว่า พิธีถวายเครื่องราชสักการะนั้น จะใช้เฉพาะเวลาที่เจ้านายเสด็จประกอบพิธีเท่านั้น สิ่งใดก็ตามที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จะมีคำว่า “ราช” นำหน้า เช่น เครื่องสักการะ ก็เรียกว่า เครื่องราชสักการะ เป็นต้น

พิธีถวายเครื่องสักการะแบบล้านนาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น เป็นการสืบสานประเพณีล้านนาที่สืบทอดมาแต่โบราณ เครื่องสักการะที่สำคัญประกอบด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป และเทียนเป็นหลัก เครื่องสักการะแต่ละชนิดล้วนแฝงไปด้วยความหมายแตกต่างกันไป

ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า “ลาชา” ได้มาจากการนำเอาข้าวเปลือกหรือข้าวโพด ไปคั่วในหม้อดินด้วยไฟอ่อนๆ จนเมล็ดข้าวนั้นแตกออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคุณสมบัติที่เปรียบประดุจได้กับคุณขอพระพุทธเจ้าสามประการกล่าวคือ

๑. ขณะคั่วข้าวตอกมีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอก เปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ

๒. ส่วนสีของข้าวตอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ

๓. ลักษณะเบ่งบานดุจพระเมตตาที่เบ่งบานงดงามเปรียบเสมือนพระมหากรุณาธิคุณ

ดอกไม้ เป็นสิ่งมีชีวิต มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม มีความบริสุทธิ์และควรค่าแก่การบูชา ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องสักการะสูงสุด ที่สำคัญไปกว่าสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่เชื่อว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับมนุษย์ ดังนั้นจึงพึงที่ได้รับอานิสงส์จากการอุทิศตนถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

ในสมัยโบราณก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะเก็บดอกไม้ไปบูชาหรือถวายพระ ต้องขออนุญาตหรือมีการบอกกล่าวต้นไม้หรือดอกไม้นั้นเสียก่อนจะเด็ดทุกครั้ง นอกจากนี้คนในสมัยก่อนยังมีความละเอียดอ่อน และเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดแม้กระทั่งคำกล่าวก่อนที่จะเด็ดดอกไม้ออกจากต้น คำกล่าวในการเก็บดอกไม้ของคนโบราณเป็นคำกล่าวที่มีความไพเราะอ่อนหวานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีการผูกถ้อยคำเหล่านั้นเป็นสำนวนหรือร้อยกรองที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า “ค่าวฮ่ำ” เป็นคำกล่าวในการเก็บดอกไม้ไปถวายพระหรือบูชาพระนั้น มีอยู่มากมายตามแต่ว่าใครจะร้อยกรองหรือบรรจงแต่งแต้มขึ้นมา หรือแม้กระทั่งท่วงทำนองในการขับขานค่าวฮ่ำก็มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสำเนียงของท้องถิ่น แต่โดยนัยแล้วยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดียวกัน

เทียน หรือที่ภาษาบาลีว่า “อัคคิธูปะ” โดยที่ อัคคิ หมายถึง เทียนขี้ผึ้งที่สามารถจุดให้เกิดแสงสว่าง ส่วน “ธูปะ” หมายถึงธูป ที่ชาวล้านนาเรียกว่า “เทียนแส้” ซึ่งเทียนแส้นี้ชาวล้านนาไม่นิยมนำมาจุดแต่มีไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาเท่านั้น เทียนแส้ของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปจากธูปของทางภาคกลาง ซึ่งชาวล้านนาจะทำเทียนแส้จากดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม

นอกจากนี้เครื่องสักการะอื่นที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ประกอบด้วย

หมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวง ที่ชาวล้านนานำมาตากให้แห้งเก็บไว้เก็บกิน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มเพื่อให้เกิดความงดงาม

หมากเบ็ง มีลักษณะเช่นเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน ๒๔ ลูก นำมาผูกติดไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกตรึงนี้ชาวล้านนาเรียกว่า “เบ็ง” จึงเป็นที่มาของชื่อพุ่มมากประเภทนี้

จำนวนหมาก ๒๔ ลูกนี้ แฝงด้วยคติธรรมโดยพระครูสุคันธศีล วัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ อธิบายว่า หมากเบ็ง ๒๔ ลูกนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งปัจจัย ๒๔ ที่ปรากฏในอภิธรรม คัมภีร์ เรียกว่า มหาปัฏฐาน คือ เหตุปัจจโย มีเหตุเป็นปัจจัย อารัมมณปัจจโย อารมณ์เป็นปัจจัย เป็นต้น ที่ท่านนำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาไว้ในเครื่องสักการะ เพื่อแสดงถึงความจริงที่ปรากฏในรูปสภาวธรรม

นอกจากนี้ เครื่องสักการะยังอาจจะหมายรวมถึง เครื่องอุปโภค-บริโภคต่าง ๆ ที่คนในสมัยโบราณพอหาได้ เพื่อนำมาถวายสักการะทั้งแก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย เช่น พลู ข้าวเปลือก มะพร้าว กล้วย ฝ้าฝ้าย ผลไม้นานาชนิด เป็นต้น

พิธีถวายสักการะ จึงเป็นพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตา และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวล้านนาต่อไป

ช่วงที่ ๒ พิธีถวายทำบุญทักษิณานุปทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

คำว่า “ทักษิณานุปทาน” นั้นหมายถึง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตายได้รับผลบุญนั้น และเป็นความเชื่อว่าเพื่อให้ผู้ตายพ้นจากภาวะที่ทุกข์ทรมานในทุคติ ที่นิยมปฏิบัติกันในการประกอบพิธีทักษิณานุปทานคือ การทำบุญอัฐิของบรรพบุรุษหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งจะมีพิธีสวดพระพุทธมนต์ บังสุกุล กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที

การจัดพิธีทานหา แม่ฟ้าหลวง จึงเป็นพิธีทำบุญเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย

พิธีถวายทำบุญทักษิณานุปทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เริ่มจากประธานจุดธูป-เทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น เป็นการจุดธูป-เทียนเครื่องทองน้อย ถวายสักการะหน้าพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จย่า พิธีสวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี

ภาพจาก กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

ประมวลภาพพิธีทานหาแม่ฟ้าหลวง

พระนาม พระนามาภิไธย พระนามาภิไธยย่อ พระอิสริยยศ และพระสมัญญา

ที่อัญเชิญไปเป็นชื่อสถานที่ อาคาร และองค์กร

จังหวัดเชียงราย

ได้มีการนำพระนาม พระนามาภิไธย พระนามาภิไธยย่อ พระอิสริยยศ และพระสมัญญาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่อัญเชิญไปเป็นชื่อสถานที่ อาคาร องค์กร และอื่นๆ ดังนี้

"แม่ฟ้าหลวง"

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓๓ หมู่ ๑ ถนนพหลโยธิน ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ "ปลูกป่า สร้างคน" เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการธำรงไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน จึงเห็นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป

ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย

ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย

อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า) ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่สายและอำเภอแม่จัน ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองเชียงราย ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่อาย (จังหวัดเชียงใหม่) และรัฐฉาน (ประเทศพม่า) วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกท้องที่ตำบลแม่สลองใน ตำบลแม่สลองนอก ตำบลเทอดไทย ของอำเภอแม่จัน มาจัดตั้งขึ้นเป็น กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙

ไร่แม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย อันเป็นที่ดินที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อไว้กว่า ๑๓ ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงานและอบรมเยาวชนจากถิ่นธุรกันดาร ในความดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปัจจุบันไร่แม่ฟ้าหลวงมีพื้นที่ประมาณ ๑๕๐ ไร่ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงในทุกๆ ด้าน จากสถานที่อบรมเยาวชนในท้องถิ่นธุรกันดารในอดีต ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาอย่างเต็มรูปแบบ ในนามอุทยานศิลปะและวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

หอคำแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายเป็นชื่อเรียกคุ้มหรือที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือในสมัยอาณาจักรล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา และเพื่อเป็นที่เก็บรักษาเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวงที่นำมาสร้างเป็นหอคำ ภายในหอคำจัดแสดงเครื่องสัตตภัณฑ์หรือแท่นเชิงเทียน ที่ตั้งถวายบูชาหน้าพระประธานในวิหารหรืออุโบสถของวัดทางภาคเหนือ

สะพานแม่ฟ้าหลวง สะพานข้ามแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ที่ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอแม่ฟ้าหลวง ภูมิประเทศ โดยทั่วไปของตำบลแม่ฟ้าหลวงเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรของเทือกเขาแดนลาวซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า มี ๑๙ หมู่บ้านหลัก ๕ หมู่บ้านบริวาร มีฐานะเป็นตำบลตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ และมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชื่อว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๗

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในปี ๒๕๓๙ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ปูแม่ฟ้าหลวง เป็นปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่ พบที่เชียงราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dromothelphusa sangwan Naiyanetr, 1997 พบครั้งแรกบริเวณ บ้านก้อแสนใจ กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ปูแม่ฟ้าหลวงเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก มีขอบตา ขอบปาก และก้ามสีแดง นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า ปูแม่ฟ้าหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงโปรดสีแดง

"สมเด็จย่า"

สวนสมเด็จย่า ๙๐ ปี เป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่บริเวณริมน้ำกก ทางด้านซ้ายมือของถนนพหลโยธิน ก่อนถึงสะพานแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

"สมเด็จพระศรีนครินทร์"

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดเชียงราย เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๘๐ พรรษา ลำดับที่ ๗ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ ๖๒๕ ไร่เศษ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวน เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลรักษา คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต้นไม้ประจำสวน คือ สุพรรณิการ์

อาคารเทิดพระเกียรติ ๙๐ ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่บริเวณสะพานขัวพญามังราย ถนนกลางเวียง ภายในพื้นที่มีหอรถบุษบกในสำหรับจัดแสดงรถบุษบก จำนวน ๙ คัน ที่สร้างและออกแบบโดยศิลปินทางภาคเหนือตามแบบศิลปะประจำถิ่น

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทรามหาสันติคีรี วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พระบรมธาตุฯ สร้างแล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นเจดีย์แบบล้านนาประยุกต์ บนฐานสี่เหลี่ยมลดชั้น สูงประมาณ ๓๐ เมตร ฐานกว้างด้านละประมาณ ๑๕ เมตร แกะสลักลวดลาย

"นครินทรา"

นครินทรา (Trisepalum sangwaniae) พรรณไม้

พบบริเวณยอดเขาหินปูน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒๐-๖๐ เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มตั้งตรงหรือเอนไปตามพื้นหิน ลำต้นส่วนล่างเป็นไม้เนื้อแข็งมีนวมหุ้ม กิ่งมีขนาดเล็กและเรียว ช่อดอก มีลักษณะเป็นกระจุก ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร

"สังวาลย์"

โรงเรียนสังวาลย์วิท ๘ ตั้งอยู่ที่บ้านจะลอ หมู่ที่ ๑๐ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายอาคารเรียนและพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนสังวาลย์วิท ๘”

*หมายเหตุ หากท่านมีข้อมูลใดเพิ่มเติม ข้อความกรุณาแจ้งมายัง งานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จักขอบพระคุณยิ่ง

หนังสือเกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีให้บริการในศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สามารถคลิกที่ปกหนังสือ เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วีดิทัศน์เกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการเก็บรักษาของงานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สามารถคลิกที่ปกหนังสือ เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โครงการพัฒนาดอยตุง ปี ๒๐๐๐

The Princess Mother of Thailand

ปลูกความดีให้แผ่นดิน สารคดีสั้น ๓๓ ตอน

The Princess Mother of Thailand

ปลูกความดีให้แผ่นดิน สารคดีสั้น ๓๓ ตอน

พระผู้ปลูกความดีให้แผ่นดิน สารคดีพิเศษ

๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทอดพระเนตร

พระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เหรียญและแสตมป์ที่ระลึกเกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ในการเก็บรักษาของงานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เหรียญที่ระลึก

มหาวิทยาลัยได้จัดทำเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ โดยขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานบนด้านหน้าของเหรียญทีระลึก เพื่อมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจที่จะสมทบทุนช่วยเหลือเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทุนการศึกษาสิรินธร และกองทุน ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ และสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ โดยเหรียญทองคำขัดเงามอบให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป พร้อมกล่องและตลับ โดยจัดทำขึ้นเพียง ๒๐๐ เหรียญ แต่ละเหรียญจะมีใบกำกับของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยได้จัดทำเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานบนด้านหน้าของเหรียญที่ระลึก เพื่อมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจที่จะสมทบทุนช่วยเหลือเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทุนการศึกษาสิรินธร และกองทุน ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ และสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ราคาเหรียญละ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมกล่องและตลับ

มหาวิทยาลัยได้จัดทำเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานบนด้านหน้าของเหรียญทีระลึก เพื่อมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจที่จะสมทบทุนช่วยเหลือเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทุนการศึกษาสิรินธร และกองทุน ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ และสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ราคาเหรียญละ ๕๐ บาท พร้อมกล่องและตลับ

มหาวิทยาลัยได้จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ เพื่อมอบให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย ตลอดผู้สนใจ โดยรายได้นำเข้าสมทบทุนกองทุน ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำหรับเหรียญทองคำขัดเงาเงิน มอบให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จัดทำเพียง ๕๐ เหรียญ

มหาวิทยาลัยได้จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ เพื่อมอบให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย ตลอดผู้สนใจ โดยรายได้นำเข้าสมทบทุนกองทุน ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำหรับเหรียญทองคำขัดเงาเงิน มอบให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ ๙๙ บาทขึ้นไป

เหรียญที่ระลึก

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์ทองแดง นิกเกิล -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์ วงขอบนอกมีเฟือง

ลวดลายด้านหน้า -- เป็นพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเครื่องแบบชุดสนามทหารบกแห่งกองทัพไทย ยศพันเอกพิเศษ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ริมขอบบนมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “พระชนมายุครบ ๗๕ พรรษา”

ลวดลายด้านหลัง -- เป็นตราพระนามาภิไธยย่อ “ สว ” เบื้องบนมีข้อความว่า “ประเทศไทย ” ด้านซ้ายมีเลขบอกราคา “ ๑ ” ด้านขวามีข้อความว่า “ บาท ” ริมขอบล่างมีข้อความว่า “๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๘”


ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์นิกเกิล -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์ ตรงกลางไม่มีรู วงขอบนอกมีเฟือง

ลวดลายด้านหน้า -- เป็นพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเครื่องแบบหน่วยแพทย์อาสา ครึ่งพระองค์ผินพระพักตร์ เบื้องซ้าย ริมขอบซ้ายมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” ริมขอบขวามีข้อความว่า “พระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา”

ลวดลายด้านหลัง -- เป็นตราพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีพระชฎามหากฐินประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า กระหนาบด้วยฉัตร ๕ ชั้น ริมขอบซ้ายมีข้อความว่า“ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓” ริมขอบขวามีข้อความว่า “ประเทศไทย ” ริมขอบล่างบอกราคา “๑๐ บาท ”

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์ทองขาวเคลือบไส้ทองแดง -- ลักษณะ -- เป็นเหรียญกษาปณ์ ตรงกลางไม่มีรู วงขอบนอกมีเฟือง

ลวดลายด้านหน้า -- เป็นพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเครื่องแบบหน่วยแพทย์อาสา ครึ่งพระองค์ผินพระพักตร์ เบื้องซ้าย ริมขอบซ้ายมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” ริมขอบขวามีข้อความว่า “พระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา”

ลวดลายด้านหลัง -- เป็นตราพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีพระชฎามหากฐินประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า กระหนาบด้วยฉัตร ๕ ชั้น ริมขอบซ้ายมีข้อความว่า“ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓” ริมขอบขวามีข้อความว่า “ประเทศไทย ” ริมขอบล่างบอกราคา “ ๕ บาท ”

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์ นิกเกิล -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์ วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่งพระองค์เต็มยศ ฉลองพระองค์เต็มยศทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องราชขัตติยราชอิสริยาภรณ์ พร้อมด้วยเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ และ ๙ ผินพระพักตร์เฉียงทางเบื้องขวา ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทรา ” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “บรมราชชนนี” ภายในชิดวงขอบเหรียญมีรูปดอกบัวบานประดับเป็นลวดลายอยู่โดยรอบ

ลวดลายด้านหลัง -- มีตราพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประกอบด้วยมงกุฏขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น เหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว ๕ ชั้น อยู่สองข้าง ใต้ตรามีข้อความบอกราคาว่า “๑๐ บาท ” “พระชนมายุ ๘๔ พรรษา ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗” และ “ประเทศไทย ”ตามลำดับภายในชิดวงขอบเหรียญมีรูปดอกบัวบานดอกใหญ่ดอกเล็กสลับกันเป็นลวดลายอยู่รอบดอกบัวใหญ่จำนวน ๗ ดอก หมายถึงพระชนมายุ ๗ รอบ

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์ วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่งพระองค์เต็มยศ ฉลองพระองค์เต็มยศ

ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องราชขัตติยราชอิสริยาภรณ์ พร้อมด้วยเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ และ ๙ ผินพระพักตร์เฉียงทางเบื้องขวา ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทรา ” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “บรมราชชนนี” ภายในชิดวงขอบเหรียญมีรูปดอกบัวบานประดับเป็นลวดลายอยู่โดยรอบ

ลวดลายด้านหลัง -- มีตราพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประกอบด้วยมงกุฏขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า๒ ชั้น เหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว ๕ ชั้น อยู่สองข้าง ใต้ตรามีข้อความบอกราคาว่า “๕ บาท ” “พระชนมายุ ๘๔ พรรษา ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗” และ “ประเทศไทย ”ตามลำดับภายในชิดวงขอบเหรียญมีรูปดอกบัวบานดอกใหญ่ดอกเล็กสลับกันเป็นลวดลายอยู่รอบดอกบัวใหญ่จำนวน ๗ ดอก หมายถึงพระชนมายุ ๗ รอบ


ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์ไม่ขัดเงา วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฉลองพระองค์เต็มยศ

ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่๘ และ๙ ภายในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” และมีพระสังวาลย์ล้อมโดยรอบที่ขอบเหรียญ

ลวดลายด้านหลัง -- กลางเหรียญมีตราพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประกอบด้วยมงกุฎขัตติยราชนารีเหนือ พระนามาภิไธยย่อ “สว” ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีตั่งรองรับ และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว ๕ ชั้น อยู่สองข้าง ใต้พระอิสริยยศมีข้อความบอกราคาว่า “๑๐ บาท” และ “ประเทศไทย” “ฉลองพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๓” ตามลำดับ ภายในชิดวงขอบเหรียญมีรูปดอกลำดวน หมายถึงผู้สูงอายุ ประดับโดยรอบ


ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์กลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ฉลองพระองค์เต็มยศทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องราชขัตติยราชอิสริยาภรณ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ และ ๙ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องขวามีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทรา ” เบื้องซ้ายมีข้อความว่า “บรมราชชนนี”

ลวดลายด้านหลัง -- กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ “สว” ด้านขวา มีเลขบอกราคา “๒๐ ” ด้ายซ้ายมีข้อความว่า “บาท ” ภายในวงของเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย ” อยู่เหนือข้อความว่า “ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓”

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) เคลือบไส้ทองแดง ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์กลม ขอบเรียบ

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฉลองพระองค์เต็มยศทรงสร้อยพระศอเพชรและสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่๘ และ๙ เบื้องขวาประดับเข็มจักรีฝังเพชรภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”

ลวดลายด้านหลัง -- เป็นตราพระนามาภิไธยย่อ “ สว ” เบื้องบนมีข้อความว่า “๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ ” ด้านซ้ายมีเลข บอกราคา “ ๑๐ ” ด้านขวามีข้อความว่า “ บาท ” ริมขอบล่างมีข้อความว่า “๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ ประเทศไทย”

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) เคลือบไส้ทองแดง -- ลักษณะเป็นเหรียญกษาปณ์ไม่ขัดเงา วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฉลองพระองค์เต็มยศทรงสร้อยพระศอเพชรและสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่๘ และ๙ เบื้องขวาประดับเข็มจักรีฝังเพชรภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”

ลวดลายด้านหลัง -- กลางเหรียญเป็นรูปเหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้า ภายในวงขอบเหรียญบื้องบนมีสัญลักษณ์ขององค์การอนามัยโลก ด้านขวามีข้อความบอกราคาว่า “เหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้า Health for All” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๓ ประเทศไทย” เบื้องล่างมีข้อความบอกราคา “ ๒ บาท”

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ( ทองแดงผสมนิกเกิล) -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์กลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสร้อยแห่งเครื่องขัติยาราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๘ ชั้นที่ ๑ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ ภายวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” วงขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยดอกลำดวน

ลวดลายด้านหลัง -- กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธย “สว” เบื้องล่างอักษรพระนามาภิไธยมีข้อความบอกราคา “๒๐” ด้ายซ้ายมีคำว่า “บาท” เบื้องล่างประดับด้วยช่อดอกภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความ “๙ รอบนักกษัตรพระราชสมภพ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ประเทศไทย” โดยมีช่อดอกลำดวนคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนและเบื้องล่างทั้งสองข้าง

ชนิดเหรียญ เหรียญกษาปณ์โลหะเงินสีขาว -- ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์กลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร

ลวดลายด้านหน้า -- กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายและสร้อยแห่งเครื่องขัติยาราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๘ ชั้นที่ ๑ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ ภายวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” วงขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยดอกลำดวน

ลวดลายด้านหลัง -- กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธย “สว” เบื้องล่างอักษรพระนามาภิไธยมีข้อความบอกราคา “๘๐๐” ด้ายซ้ายมีคำว่า “บาท” เบื้องล่างประดับด้วยช่อดอกภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความ “๙ รอบนักกษัตรพระราชสมภพ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ประเทศไทย” โดยมีช่อดอกลำดวนคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนและเบื้องล่างทั้งสองข้าง


เหรียญรางวัล

สนง.ททท.ภาคเหนือเขต ๒ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สมาคมเปตองแห่งประเทศไทย สมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรม “การแข่งขันกีฬาเนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปีที่ ๑๐๖”ประจำปี ๒๕๔๙ ขึ้น ในวันเสาร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ณ พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย

-- งานจดหมายเหตุได้รับมอบ เมื่อปี ๒๕๔๙

แสตมป์ที่ระลึก

ที่ระลึกเปิดที่ทำการไปรษณีย์ มฟล.อาคาร D๑ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๗ ราคา ๒ บาท -- งานจดหมายเหตุ ได้รับบริจาคปี ๒๕๔๘

วันแรกจำหน่าย ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้พิมพ์ ไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย

งานจดหมายเหตุ ได้รับมอบปี ๒๕๔๘


วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ -- ชนิดราคา ๐.๗๕ สตางค์ ผู้ออกแบบ รศ.ประหยัด พงษ์ดำ -- ผู้พิมพ์ แฮริสัน แอนด์ ซันส์ ประเทศอังกฤษ งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

ฉลองวันพระราชสมภพ ๗ รอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี -- วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ -- ชนิดราคา ๑.๕๐ สตางค์ -- ผู้ออกแบบ รศ.ประหยัด พงษ์ดำ และ นางมะลิวัลย์ ใจกระจ่าง -- ผู้พิมพ์ แฮริสัน แอนด์ ซันส์ ประเทศอังกฤษ -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ -- ชนิดราคา ๑.๕๐ สตางค์ -- ผู้ออกแบบ รศ.ประหยัด พงษ์ดำ และ นางมะลิวัลย์ ใจกระจ่าง -- ผู้พิมพ์ แฮริสัน แอนด์ ซันส์ ประเทศอังกฤษ -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้พิมพ์ ไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้ออกแบบ นายสุวิทย์ หลีดุลย์ และนางวีณา จันทนทัศ -- ผู้พิมพ์ ลีห์-มาดอน พีทีวาย จำกัด ประเทศออสเตรเลีย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้ออกแบบ นายสุวิทย์ หลีดุลย์ และนางวีณา จันทนทัศ -- ผู้พิมพ์ ลีห์-มาดอน พีทีวาย จำกัด ประเทศออสเตรเลีย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้ออกแบบ นายเจนวิทย์ ทองแก้ว และนางวีณา จันทนทัศ -- ผู้พิมพ์ ไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้ออกแบบ นายเจนวิทย์ ทองแก้ว และนางวีณา จันทนทัศ -- ผู้พิมพ์ ไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ -- ชนิดราคา ๒ บาท -- ผู้ออกแบบ นายเจนวิทย์ ทองแก้ว และนางวีณา จันทนทัศ -- ผู้พิมพ์ ไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๔๗

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ -- ชนิดราคา ๓ บาท ราคาชุดละ ๑๑๑ บาท -- ผู้ออกแบบ นางปาริชาติ ทัศนเทพ (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ) -- ผู้จัดสร้าง สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสมาคมสหพันธ์นิสิต นักศึกษาและศิษย์เก่า สถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๕๔

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ -- ชนิดราคา ๓ บาท ราคาชุดละ ๔๑๑ บาท -- ผู้ออกแบบ นางปาริชาติ ทัศนเทพ (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ) -- ผู้จัดสร้าง สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสมาคมสหพันธ์นิสิต นักศึกษาและศิษย์เก่า สถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๕๔

วันแรกจำหน่าย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ -- ชนิดราคา ๓ บาท -- ราคาซองละ ๒๒ บาท ชุดละ ๖ ซอง ราคา ๑๑๑ บาท -- ผู้ออกแบบ นางปาริชาติ ทัศนเทพ (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ) -- ผู้จัดสร้าง สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสมาคมสหพันธ์นิสิต นักศึกษาและศิษย์เก่า สถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย -- งานจดหมายเหตุ รับมอบ ปี ๒๕๕๔

งานจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ชั้น 3 อาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 333 หมู่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย